school

 

 

 

ประวัติโรงเรียน

 ความเจริญทางวัฒนธรรม คือ สิ่งชี้ให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของประเทศชาตินั้น ๆ ความสงบร่มเย็น และความมีระเบียบวินัยภายในประเทศ ก็ย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน แต่การผลิตปัญญาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยสถาบันการศึกษาเป็นที่ถ่ายทอดให้กับบุคคล

 

จุดเริ่มต้นการศึกษาภาษาจีนในเชียงใหม่

กล่าวกันว่า การศึกษาภาษาจีนในเมืองเชียงใหม่ เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2444 ในระยะแรกเป็นการจัดการศึกษาแบบไม่มีโรงเรียน ที่รัฐบาลสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า โรงเรียนวิเศษเชลยศักดิ์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เรียกว่า โรงเรียนบุคคล ที่เปิดสอนตามบ้านหรือสถานที่ของครูผู้สอน นักเรียนในสมัยนั้นเรียกกันว่า โรงเรียนครู… (ระบุชื่อของครูผู้สอน)

 

โรงเรียนจีนเชียงใหม่ ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

Image2 Image4 Image5

การตั้ง โรงเรียนฮั่วเอง

ในปี 2460 มีการจัดตั้งโรงเรียนจีน เป็นรูปแบบมีโรงเรียนเต็มตัวครั้งแรก ชื่อ “โรงเรียนฮั่วเอง” เมื่อมีนักธุรกิจการค้าชั้นนำชาวจีนแต้จิ๋วจากกรุงเทพฯ ผู้หนึ่ง ชื่อ นายตี่หย่ง แซ่แต้ (หรือ ฮง ต้นตระกูล เตชะวณิช ) ได้เดินทางมาเชียงใหม่ และพบว่า ในเมืองเชียงใหม่ขณะนั้นมีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ต่างประกอบธุรกิจกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่กลับไม่มีโรงเรียนจีนตั้งขึ้นเลย จึงมีความตั้งใจที่จะบริจาคทุนทรัพย์เพื่อจัดตั้งโรงเรียนจีนขึ้นเป็นแห่งแรกในเมืองเชียงใหม่

นายตี่หย่ง แซ่แต้ จึงได้นำความคิดนี้ไปปรึกษากับ นายสุ่นฮี้ แซ่ฉั่ว (หลวงอนุสารสุนทร ต้นตระกูล ชุติมา) นายเอียวฮก แซ่เอง ( ต้นตระกูล ศักดาทร บริษัทนิยมพานิช จำกัด ) นายอุ่ย แซ่เหลี่ยว ( เจ้าของห้างเหลี่ยวหย่งง้วน ) ผู้ซึ่งเป็นนักธุรกิจชั้นนำในเชียงใหม่ เมื่อตกลงเห็นชอบกันทุกฝ่ายแล้ว นายตี่หย่ง แซ่แต้ จึงได้บริจาคเงินซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง บนถนนเจริญราษฎร์ บริเวณใกล้วัดเกต เพื่อใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนจีนแห่งแรกในเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับตั้งชื่อโรงเรียนแห่งนี้ว่าโรงเรียนฮั่วเอง โดยใช้ภาษาจีนแต้จิ๋ว จึงเป็นการวางรากฐานของสถาบันการศึกษาภาษา และวัฒนธรรมจีน เป็นแห่งแรกในเมืองเชียงใหม่

หลังจากที่โรงเรียนฮั่วเองเปิดสอนได้ไม่นาน ปรากฏว่า มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสถานที่แห่งแรกคับแคบเกินไปไม่เพียงพอกับความต้องการ นายสุ่นฮี้ แซ่ฉั่ว จึงได้นำปัญหานี้มาปรึกษากัน และได้เจรจากับนักธุรกิจ ชื่อ นายแป๊ะป๊อ จนนายแป๊ะป๊อมีจิตศรัทธา บริจาคที่ดินแปลงหนึ่ง บนถนนช้างคลาน เพื่อเป็นที่ตั้งโรงเรียนฮั่วเอง แห่งใหม่ ( ปัจจุบันคือที่ตั้ง อาคารไนท์บาร์ซ่า )

เมื่อได้รับบริจาคที่ดินแล้ว นายสุ่นฮี้ แซ่ฉั่ว และเพื่อนนักธุรกิจ คือ นายเอียวฮก แซ่เอง นายอุ่ย แซ่เหลี่ยว จึงได้รวบรวมทุนทรัพย์จากชาวจีน สร้างโรงเรียนฮั่วเองบนที่ดินใหม่ เพื่อรับนักเรียนทั้งหมดที่ย้ายมาจากที่เดิม ทำให้มีโรงเรียนจีนตั้งขึ้นอย่างเป็นที่น่าภาคภูมิใจบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง

หลังจากได้ทำการสอนไปช่วงหนึ่งแล้ว กรรมการบริหารโรงเรียน ได้แยกโรงเรียนจีนแผนกนักเรียนหญิงออกมา และเปิดเป็นโรงเรียนฮั่วเองแผนกนักเรียนหญิงขึ้นที่อาคารหลังหนึ่ง ถนนเจริญประเทศ ( ปัจจุบันคือที่ตั้ง โรงแรมเพชรงาม ) แต่เกิดความไม่สะดวกในการบริหาร จึงจำต้องยุบโรงเรียนฮั่วเอง แผนกนักเรียนหญิง กลับไปรวมกับโรงเรียนฮั่วเอง ที่ถนนช้างคลาน เหมือนเดิม

 

การตั้ง โรงเรียนฮั่วเคี้ยว

ในปี 2470 ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่มีจำนวนมากขึ้น และใช้ภาษาที่แตกต่างกัน มีทั้งจีนแคะ จีนไหหลำ จีนกวางตุ้ง จีนยูนาน ฯลฯ จึงมีการหารือกันในเรื่องนี้ และมีข้อยุติ ให้ร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนจีนขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่สอนด้วยภาษาจีนกลาง ที่ถนนลอยเคราะห์ (ปัจจุบันคือที่ตั้ง มูลนิธิเชียงใหม่สามัคคีการกุศล) และตั้งชื่อว่า โรงเรียนฮั่วเคี้ยว โดยมี นายง่วนชุน แซ่ตั้ง (ต้นตระกูลตันตรานนท์) เป็นผู้รับใบอนุญาต และประธานบริหารคนแรก

นับแต่นั้น โรงเรียนจีนเชียงใหม่ สามารถรับบุตรหลานชาวจีนได้อย่างทั่วถึง คณะผู้บริหารโรงเรียนจีนทั้งสองแห่ง ได้ร่วมกันบริหารโรงเรียนทั้งสองอย่างต่อเนื่อง โดยมีการหมุนเวียนบุคคลมารับหน้าที่บริหาร ตามหลักฐานที่มีอยู่ขณะนี้ พบข้อมูลว่า

ปี 2469-2473 ขุนอนุกรบุรี (นายเย็น แซ่นิ้ม เจ้าของ ห้างนิ้มเชียงฮวด ต้นตระกูล นิมากร) เป็นผู้รับใบอนุญาต และผู้จัดการโรงเรียนฮั่วเอง และ นายบุนนาค ฉิมพลีย์ เป็นครูใหญ่

ปี 2474-2475 นายง่วนชุน แซ่ตั้ง ( ผู้ก่อตั้ง และผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนฮั่วเคี้ยว คนแรกเมื่อปี 2470 ) เป็นผู้รับใบอนุญาต และผู้จัดการโรงเรียนฮั่วเอง ต่อจาก ขุนอนุกรบุรี

ปี 2480 นายอิวสือ แซ่โต๋ว ( นายสงบ แซ่โต๋ว เจ้าของ ห้างโต๋วหยิ่นเซ้ง ) เป็นประธานโรงเรียนฮั่วเอง คนต่อมา ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย เมื่อปี 2475 นโยบายทางด้านการศึกษาของรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน คือ มีการเคร่งครัดกวดขันโรงเรียนจีน มีการจำกัดชั่วโมงการสอนภาษาจีนในโรงเรียนจีนเหลือเพียง วันละ 2 ชั่วโมง

ต่อมาในช่วง ปี 2480-2484 โรงเรียนจีนทั่วประเทศ เริ่มขอเลิกกิจการบางส่วน ที่เหลือซึ่งเป็นส่วนใหญ่ถูกรัฐบาลสั่งปิด เพิกถอนใบอนุญาตโรงเรียนจีนทั่วประเทศ เป็นเหตุให้โรงเรียนจีนทั้งสองในเมืองเชียงใหม่ถูกปิดไปด้วย ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้น

 

โรงเรียนจีนเชียงใหม่ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ

จนกระทั่ง ปี 2488 ญี่ปุ่นยอมจำนนต่อสัมพันธมิตร ทำให้เกิดความสงบขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ธุรกิจต่าง ๆ กลับเข้าสู่สภาพเดิม กลุ่มอดีตผู้นำโรงเรียนฮั่วเอง และฮั่วเคี้ยว คือ นายง่วนชุน แซ่ตั้ง นายอิวสือ แซ่โต๋ว นายอ่างยู้ แซ่ตั้ง นายเป็กสิ่ว แซ่ลิ้ม ( นายพู่เทียม ลินพิศาล ) นายเหลี่ยงกือ แซ่เหลี่ยว นายฮึงฮุย แซ่ฉั่ว นายเอี๊ยะชำ แซ่พัว ( เจ้าของห้างพัวไถ่กี่ ) นายเชียวท้าง แซ่โอ้ว (นายชู โอสถาพันธุ์) นายก๊กอุ่ย แซ่ตั้ง ได้ปรึกษาหารือกันจนได้จัดตั้งโรงเรียนจีนขึ้นใหม่ เมื่อปลายปี 2488 โดยใช้ชื่อเดิมว่า โรงเรียนสหศึกษา ฮั่วเอง – ฮั่วเคี้ยว มาช่วงหนึ่งก่อนได้รับใบอนุญาตตั้งโรงเรียนจากทางการในเวลาต่อมา

 

การเปิด โรงเรียนชิงหัว

ในปี 2491 ได้รับใบอนุญาตจากทางราชการให้จัดตั้งโรงเรียนโดยใช้ชื่อ โรงเรียนชิงหัว ฉะนั้นลูกหลานชาวจีนในเชียงใหม่ จึงมีโอกาสศึกษาภาษาจีนอีกครั้งหนึ่ง ถึงกระนั้นก็ตาม ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่การบริหารโรงเรียนเป็นไปได้ช่วงเวลาหนึ่ง ก็ถูกเพิกถอนใบอนุญาตในปีเดียวกัน เพราะทำผิดระเบียบการเรี่ยไรของทางราชการ เป็นผลให้กรรมการบริหารโรงเรียนจำนวน 4 คน ซึ่งมีจิตใจสูงส่ง ที่ได้เสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ และกำลังใจ ต้องพลอยได้รับโทษจากทางราชการอีกด้วย ผู้รับโทษ 4 คนนี้ คือ นายฮกเซี้ยง แซ่ตั้ง นายเฉี่ยงฮ้อ แซ่เหลี่ยว (บุตรของนายอุ่ย แซ่เหลี่ยว ) นายเทียนงัก แซ่แต้ นายเกี่ยงฮั้ว แซ่อึ้ง นับว่าบุคคลดังกล่าว ได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อการศึกษาโดยแท้

 

การเปิด โรงเรียนซินเซิง

Image1

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง นอกเหนือจากการจัดตั้งโรงเรียนชิงหัวแล้ว ยังมีนักธุรกิจชาวจีนในเชียงใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง ( ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดใหม่ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้บริหารโรงเรียนฮั่วเอง – ฮั่วเคี้ยว ที่ได้ก่อตั้งโรงเรียนชิงหัวมาก่อน)ได้ร่วมกันจัดตั้งชมรมร่วมด้วยช่วยกัน(หู่จ่อเสีย) ภายใต้การดำเนินการของ นายซิ่วไถ่ แซ่กัง นายหลักยู้ แซ่ลิ้ม (นายรัก นิมากร) นายหุ่งเจียว แซ่จิว (นายบรรเจิด สู่พานิช) นายตักซำ แซ่ลิ้ม นายเสี่ยวเสีย แซ่กิม นายขิ่มโพ้ว แซ่โค้ว นายบักซ้ง แซ่ลี้ นายหยิ่มพ้ง แซ่ตั้ง มีวัตถุประสงค์ใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ยามว่างจากธุรกิจ แต่ในเวลานั้น ลูกหลานชาวจีนจำนวนมากต้องการที่จะศึกษาเรียนรู้ภาษาจีน จึงเป็นเหตุให้กลุ่มบุคคลดังกล่าว ได้ริเริ่มทดลองเปิดสอนภาษาจีนขึ้น ภายใต้การสอนของครูจีน ชื่อ นายอิวกวง แซ่โล้ว การสอนภาษาจีนของชมรมแห่งนี้ ได้รับการตอบสนองจากสังคมชาวจีนในเชียงใหม่เป็นอย่างดี จึงทำให้จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในที่สุดกลุ่มผู้ก่อตั้งชมรมฯ จึงได้ประชุม และได้ตกลงมอบหมายให้นายหุ่งเจียว แซ่จิว เป็นผู้ยื่นขออนุญาตเปิดโรงเรียนจีนขึ้นอีกแห่งหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนซินเซิง และได้รับอนุญาตเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2491

Image6

ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินงานโรงเรียนซินเซิงนั้น เนื่องจากได้แปรสภาพจากชมรมฯ มาเป็นโรงเรียน จึงทำให้ภาวะเศรษฐกิจของโรงเรียน ยังไม่พร้อม และอยู่ในสภาพขัดสนเป็นอย่างยิ่ง โรงเรียนจึงต้องเผชิญกับปัญหามากมาย อาคารที่ใช้สอนก็เป็นอาคารไม้ไผ่กั้นด้วยฟาก หลังคามุงด้วยใบตอง เก้าอี้เรียนก็ใช้ลังไม้ แต่ด้วยความบากบั่น และเสียสละอย่างใหญ่หลวงของผู้บริหาร ตลอดจนครูผู้สอน จึงทำให้โรงเรียนซินเซิงได้รับการสนับสนุนทั้งกำลังใจ กำลังทรัพย์ จากชาวจีนในเชียงใหม่ จนกระทั่งทำให้โรงเรียนซินเซิง อันเป็นโรงเรียนจีนอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ยืนหยัดอยู่ได้

การดำเนินการบริหารโรงเรียนซินเซิงแห่งนี้ หลังจากการจัดตั้งเป็นโรงเรียนให้ถูกต้อง ก็ได้มีการฟอร์มตัวผู้บริหารขึ้น นอกเหนือไปจากผู้ที่จัดตั้งชมรมแล้ว ประธาน รองประธาน และคณะกรรมการบริหารชุดแรก ได้แก่ นายเอี้ยวโม้ว แซ่ฉั่ว (นายอมร ชวชาติ) และนายเป็กสิ่ว แซ่ลิ้ม (นายพู่เทียม ลินพิศาล) คณะกรรมการบริหารโรงเรียน และครูผู้สอน ได้ดำเนินการบริหารโรงเรียนสำเร็จเป็นอย่างดี จึงได้รับการบริจาคทางด้านทุนทรัพย์ จนกระทั่งสามารถรวบรวมสร้างอาคารไม้ 2 ชั้นขึ้น เพื่อรองรับนักเรียนได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

 

การเปิด โรงเรียนช่องฟ้า

Image3

ในปี 2492 หลังจากที่โรงเรียนชิงหัวถูกปิดให้หลัง 1 ปี นายเป็กสิ่ว แซ่ลิ้ม (นายพู่เทียม ลินพิศาล) เป็นผู้ยื่นขออนุญาตตั้งโรงเรียนจากกระทรวงศึกษาธิการ จนได้รับใบอนุญาตจัดตั้ง โรงเรียนช่องฟ้า จากทางการ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2492 โรงเรียนช่องฟ้า เมื่อได้รับอนุญาตครั้งแรกนั้น ตั้งอยู่ที่ถนนลอยเคราะห์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนฮั่วเคี้ยวเดิม และได้ย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนฮั่วเอง ถนนช้างคลาน ในเวลาต่อมา นับตั้งแต่บัดนั้น โรงเรียนจีนที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ จึงมีอยู่สองโรงเรียน คือ โรงเรียนซินเซิง และโรงเรียนช่องฟ้า

ปี 2493 – 2500 มีการเปลี่ยนแปลงผู้รับใบอนุญาตของทั้งสองโรงเรียน คือ ที่โรงเรียนช่องฟ้า ในปี 2493 นายเป็กสิ่ว แซ่ลิ้ม ได้ส่งมอบหน้าที่ต่อให้ นายเปล่ง เลาหะเพ็ญแสง (นายเปงเล้ง แซ่เล้า) และนายพวน ตนานนท์ ตามลำดับ ต่อมา ในปี 2500 นายริ้ว แซ่เอง (นายริ้ว ศักดาทร) เข้ารับหน้าที่ต่อจาก นายพวน ตนานนท์

ที่โรงเรียนซินเซิง ในปี 2493 นายหุ่งเจียว แซ่จิว ส่งมอบหน้าที่ให้ นายหลักยู้ แซ่ลิ้ม (นายรักษ์ นิมากร) รับหน้าที่ต่อ และในปี 2497 นายสิริ ภู่ประเสริฐ รับหน้าที่ต่ออีกครั้ง

การตั้งโรงเรียนจีนในอดีตดังกล่าวมา มีลักษณะพิเศษประการหนึ่ง ที่แตกต่างจากโรงเรียนทั่ว ๆ ไป คือ นอกจากมีที่ตั้งโรงเรียนจีนแต่ละแห่งแล้ว ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนจีน ไม่ได้ใช้ในกิจการของโรงเรียนจีน แต่ใช้เป็นสถานที่สำหรับพบปะดื่มน้ำชาอ่านหนังสือพิมพ์ ของผู้สนับสนุน และกรรมการโรงเรียนจีน( ลักษณะคล้าย ๆ สโมสร หรือ ชมรม ไม่เต็มรูปแบบ คือไม่มีกิจกรรมอื่น ๆ ใด นอกจากเป็นสถานที่พบปะดื่มน้ำชาหารือกันยามว่าง ) ในที่นี้ขอเรียกว่า “สำนักพ่อค้าจีน” ซึ่งในอดีตมีอยู่ 3 แห่ง คือ

กรณีของโรงเรียนฮั่วเอง เรียกว่า “ ฮั่วเคี้ยวจือเป้าเสีย ( 华侨书报社 ) ” มีที่ตั้ง ย่านถนนเจริญเมือง บริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งในที่ตั้ง บริษัท ไม้อบทวีพรรณ จำกัด ในปัจจุบัน

กรณีของโรงเรียนฮั่วเคี้ยว เรียกว่า “ กังเซียงจือเป้าเสีย ( 工商书报社 ) ” มีที่ตั้ง ย่านถนนท่าแพ บริเวณย่าน ห้างเหลี่ยวหย่งง้วน ในอดีต และเคยเป็นที่ตั้งของร้านเข็มทิศ

กรณีของโรงเรียนซินเซิงต่างจากของ 2 โรงเรียนข้างต้น คือ มีการตั้ง “ หู่เจ้อเสีย ( 互助社 ) ” เป็นชมรมร่วมด้วยช่วยกัน สถานที่พบปะกันยามว่างจากธุรกิจการค้า ในเวลาต่อมาจึงได้พัฒนาเป็นโรงเรียนซินเซิง ดังได้กล่าวแล้ว

 

โรงเรียนจีนเชียงใหม่ ยุคหลัง ปี 2500

เวลาผ่านไปเป็นระยะเวลานานพอสมควร ในปี 2502 ที่โรงเรียนซินเซิง ได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารใหม่ เพื่อดำเนินการบริหารสืบช่วงต่อจากกลุ่มผู้ริเริ่ม โดยมี นายเชียงฮวด แซ่เล็ก (นายชาญ ปัทมอดิสัย ) เป็นผู้รับใบอนุญาต มีคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย

นายเขี่ยงกี่ แซ่ตั้ง ( นายประวิทย์ ตันตรานนท์ ) นายก่วงอุ้ย แซ่ตั้ง ( นายถนอมศักดิ์ เชิดสถิรกุล ) นายเม่งฮ้อ แซ่อึ้ง (นายนิรันดร์ วรรธนัจฉริยา) นายกิมก้วง แซ่โจว (นายประพันธ์ สุจริตพานิช) นายเหี้ยงย้ง แซ่กิม นายฮั่งเต็ก แซ่ลิ้ม (นายดิษฐ์ ลินพิศาล) นายเสี่ยงเอี้ยว แซ่เตีย นายคิมเอี๋ยว แซ่โอ้ว (นายหิรัญ โอฬารรัตนชัย) นายหล่วงจือ แซ่เหลี่ยว (นายธีระศักดิ์ เลิศชูสกุล) เป็นต้น ผู้บริหารชุดนี้ได้รับภารกิจดำเนินการบริหาร จนกระทั่งโรงเรียนซินเซิงได้รวมการบริหารร่วมกับมูลนิธิ ที่ได้ก่อตั้งในเวลาต่อมา

 

การเปิด โรงเรียนศักดาวิทยา /วาณิชบำรุงวิทยา

ในปี 2503 นายริ้ว แซ่เอง (นายริ้ว ศักดาทร บุตรนายเอียวฮก แซ่เอง) ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนช่องฟ้า ในขณะนั้น พร้อมด้วย นายไต้เจียว ปิฎกานนท์ นายเซียะง้วน แซ่ลี้ นายก๊กเอง แซ่ล้อ นายเหลี่ยงอัน แซ่-เหลี่ยว นายค่าย แซ่อาวเอี้ยง ( นายค่าย อาภาวัชรุตม์ ) นายหน่ำคัง แซ่ตั้ง นายเฮี่ยงเพียว แซ่ก้วย ได้ประชุมปรึกษาหารือกันมีความเห็นว่า นักเรียนที่จบ ป. 4 จากโรงเรียนช่องฟ้าแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนต่อชั้นที่สูงขึ้น มักพบปัญหาจะต้องหาที่เรียนแห่งใหม่

ด้วยความจำเป็นดังกล่าวจึงได้ตกลงตั้งโรงเรียนระดับมัธยมขึ้นโดยใช้อาคารจงเจี้ยตึ้ง หลังโรงเรียนช่องฟ้าเป็นโรงเรียนแห่งใหม่ ชื่อว่า โรงเรียนศักดาวิทยา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนวาณิชบำรุงวิทยา

Image7

ในตอนหลังโรงเรียนวาณิชบำรุงวิทยาแห่งนี้ เป็นโรงเรียนที่เกิดขึ้น และมีความผูกพันต่อเนื่องตอบสนองความต้องการของนักเรียนที่จบ ป.4 โรงเรียนช่องฟ้า เพื่อเข้าเรียนต่อชั้นสูงขึ้น

 

การก่อตั้งมูลนิธิ เป็นองค์กรนิติบุคคลตามกฎหมาย

จะเห็นได้ว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจของทุกยุคทุกสมัย ตลอดจนระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของทางการที่กำหนดไว้กับโรงเรียนจีน ทำให้การบริหารโรงเรียนจีนของคณะกรรมการทุกโรงเรียนทุกยุคทุกสมัยนั้น ต้องรับภาระไว้ด้วยความยากลำบากอย่างยิ่งยวด แต่ด้วยความยึดมั่นในเจตนารมณ์อันที่จะรักษาไว้ซึ่งโรงเรียนอันเป็นสถาบันให้การศึกษาแก่ลูกหลานจีน และเยาวชนในสังคมเมืองเชียงใหม่ โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา ได้ทำให้คณะกรรมการของโรงเรียนต่าง ๆ ทุกยุคทุกสมัย สามารถประคองโรงเรียนจีน ให้อยู่ยงสืบทอดต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยการทุ่มเททั้งกำลังทรัพย์ กำลังกาย และกำลังใจ ร่วมกันตลอดมา แต่ที่สำคัญที่สุด ที่เป็นรากฐานแห่งความสำเร็จก็คือ การสนับสนุนทางด้านกำลังทรัพย์ กำลังใจจากชาวจีนทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน หรือผู้ที่มองเห็นคุณค่าของการศึกษา

เนื่องจากการบริหารโรงเรียนจีนในเชียงใหม่ ตามประวัติความเป็นมาข้างต้น ได้ดำเนินการในรูปแบบการกุศลของเอกชน โดยมิได้รวมตัวก่อตั้งให้เป็นรูปแบบของนิติบุคคล ฉะนั้น ในปี 2515 นายณรงค์ ศักดาทร ผู้ซึ่งได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าของโรงเรียนช่องฟ้า และโรงเรียนวาณิชบำรุงวิทยา สืบทอดมาจาก นายริ้ว ศักดาทร ผู้เป็นบิดา จึงได้ปรึกษาคณะกรรมการโรงเรียน จนมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นด้วย ให้จัดตั้งมูลนิธิ เป็นองค์กรนิติบุคคล เพื่อเป็นเจ้าของโรงเรียนแทนตัวบุคคล พร้อมทั้งเพื่อรวบรวมที่ดิน ที่บรรพชนโรงเรียนฮั่วเอง-ฮั่วเคี้ยว ได้รับบริจาค และที่ซื้อไว้ถือกรรมสิทธิ์ในนามบุคคล (แทนโรงเรียนฮั่วเอง และฮั่วเคี้ยว) ทั้งในเขตอำเภอเมือง อำเภอหางดง และอำเภอสารภี คือ

ในเขตอำเภอเมือง คือ ที่ตั้งโรงเรียนช่องฟ้า (ในอดีตใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนฮั่วเอง และโรงเรียนชิงหัวมาก่อน ) เริ่มแรกถือกรรมสิทธิ์ในนาม หลวงอนุสารสุนทร ต่อมาในปี 2485 ถือกรรมสิทธิ์ในนาม นายเสียง ตนักสรานนท์ กับ นายตงโม้ง แซ่ตั้ง (นายประสงค์ ตันตรานนท์) และตั้งแต่ ปี 2488 ในนาม นายตงโม้ง แซ่ตั้ง กับ นายวงษ์ แซ่เหลี่ยว

ที่ตั้งโรงเรียนวาณิชบำรุงวิทยา (บริเวณที่จอดรถด้านหลังอาคารไนท์บาร์ซ่าในปัจจุบัน) รวม 2 โฉนด ถือกรรมสิทธิ์ในนาม ขุนอนุกรบุรี 1โฉนด และอีก 1 โฉนดในนาม นายชู โอสถาพันธุ์ กับ นายสงบ หรือ นายอิวสือ แซ่-โต๋ว และยังมีที่ดินย่านตรงข้ามสถานีรถไฟ อีก 1โฉนด (พื้นที่ 2 งานเศษ) ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน 5 คน ในนาม นายง่วนชุน แซ่ตั้ง นายเสียง แซ่ตั้ง นายฮกเซี้ยง แซ่ตั้ง นายอิวสือ แซ่โต๋ว และนายเฉี่ยงฮ้อ แช่เหลี่ยว

ในเขตอำเภอหางดง มี 2 โฉนด พื้นที่รวมประมาณ 33 ไร่ ถือกรรมสิทธิ์ในนาม นายง่วนชุน แซ่ตั้ง เป็นที่นาปลูกข้าวมาจนปัจจุบัน

และในเขตอำเภอสารภี ( ต.หนองผึ้ง 6โฉนด ต.ไชยสถาน 4 โฉนด ต.ชมภู 1โฉนด ) รวม 11โฉนด เป็นที่นาปลูกข้าว มีพื้นที่รวมประมาณ 87 ไร่เศษ โดย 10 โฉนด ในตำบลหนองผึ้ง และตำบลไชยสถาน ถือกรรมสิทธิ์ในนามบุคคล 5 คนร่วมกัน คือ นายง่วนชุน แซ่ตั้ง นายอิวสือ แซ่โต๋ว นายฮกเซี้ยง แซ่ตั้ง นายเฉี่ยงฮ้อ แซ่เหลี่ยว และนายเสียง แซ่ตั้ง อีก 1 โฉนด ในตำบลชมภู ถือกรรมสิทธิ์ในนาม ขุนอนุกรบุรี ( นายเย็น แซ่นิ้ม)

ที่ดินในอำเภอหางดง และในอำเภอสารภี เดิมทั้งหมดผู้นำโรงเรียนฮั่วเอง-ฮั่วเคี้ยว ซื้อไว้เป็นที่ทำนาปลูกข้าวสำหรับใช้เลี้ยงคณะนักเรียน และครูของโรงเรียนทั้งสอง หากมีเหลือจะขายเป็นรายได้ไว้สำหรับดำเนินกิจการโรงเรียนทั้งสองเช่นกัน

เวลาต่อมามีการนำที่ดินมา ใช้เป็นที่ตั้ง โรงเรียนช่องฟ้า และโรงเรียนวาณิชบำรุงวิทยา ในเขตตำบลหนอง-ผึ้งรวม 3 โฉนด และโรงเรียนซินเซิง ในเขตตำบลไชยสถาน 2 โฉนด

เพื่อให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของกฎหมาย จึงได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิ ชื่อว่า มูลนิธิช่องฟ้าวาณิชบำรุงวิทยา เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2515 โดยใช้เงิน จำนวนหนึ่งแสนบาท อันเป็นเงินบริจาคของนายริ้ว ศักดาทร ผู้มีจุดประสงค์ที่จะอุทิศเงินดังกล่าวเป็นทุนการศึกษา มาเป็นทุนจดทะเบียนมูลนิธิ ซึ่งได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2517

โรงเรียนจีนเชียงใหม่ หลังยุคก่อตั้งมูลนิธิ

หลังจากมูลนิธิช่องฟ้าวาณิชบำรุงวิทยาได้ก่อตั้งขึ้น คณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งเป็นเจ้าของ และบริหารเฉพาะโรงเรียนช่องฟ้า และโรงเรียนวาณิชบำรุงวิทยา เท่านั้น ต่างก็มีความเห็นว่า การศึกษาภาษาจีนในเชียงใหม่ สมควรจะได้รับการสนับสนุนรวมเป็นปึกแผ่น ภายใต้การบริหารขององค์กรเดียวกัน จึงได้มีการหารือกับคณะกรรมการบริหารโรงเรียนซินเซิง เพื่อเข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารมูลนิธิ ทำให้มูลนิธิเป็นองค์กรนำในการบริหารโรงเรียนทั้งสาม อย่างเป็นเอกภาพ จึงได้มีการยื่นขอเปลี่ยนแปลงชื่อมูลนิธิ และคณะกรรมการมูลนิธิใหม่ จนได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2523 ให้ เปลี่ยนชื่อเป็น “ มูลนิธิช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุงวิทยา ”

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การบริหารโรงเรียนดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ยืนอยู่บนพื้นฐานของการให้การศึกษาแก่มวลชน อันเป็นกิจกรรมสาธารณกุศลอีกรูปแบบหนึ่ง ฉะนั้นคณะกรรมการไม่ว่าชุดไหนก็ตามที่เข้ารับผิดชอบการบริหารโรงเรียนตั้งแต่เริ่มต้นถึงปัจจุบันจะต้องเป็นผู้ที่เสียสละ และบริจาคเงินทุนสมทบ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียนอยู่ตลอดมา ฉะนั้น จึงได้มีการกำหนดนโยบายใหม่ที่จะใช้ทรัพย์สินที่บรรพชนโรงเรียนจีน-เชียงใหม่ในอดีตได้สะสมไว้นั้น ให้นำมาทำให้เกิดประโยชน์ เพื่อที่จะได้ทุนทรัพย์มาสนับสนุนการบริหารโรงเรียนทั้งหมดต่อไป

ฉะนั้น ในปี 2520 คณะกรรมการมูลนิธิช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุงวิทยา จึงได้ตัดสินใจนำเอาที่ดินส่วนหนึ่งด้านหน้าของโรงเรียนช่องฟ้า ที่ติดถนนช้างคลาน มาทำตลาดสินค้าพื้นเมืองขึ้น เพื่อหารายได้จุนเจือโรงเรียนทั้งหมดตั้งแต่ ปี 2521 การดำเนินงานของศูนย์สินค้าพื้นเมือง (ไนท์บาร์ซ่า) พบกับความสำเร็จจนทำให้โรงเรียนทั้งหมดสามารถอยู่ได้ต่อมาระยะหนึ่ง

ต่อมาคณะกรรมการมูลนิธิ เห็นว่า สถานที่ และทำเลของโรงเรียนทั้งสาม ไม่เหมาะสมสำหรับที่จะเป็นโรงเรียนต่อไป ทั้งนี้เพราะความเจริญของบ้านเมือง และจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น คณะกรรมการมูลนิธิ จึงตัดสินใจประกาศนำเอาที่ดินโรงเรียนช่องฟ้า และโรงเรียนวาณิชบำรุงวิทยาให้เอกชนอื่นเช่า เพื่อที่จะนำเงินค่าหน้าดินที่ได้รับมาเป็นงบประมาณ สำหรับย้ายโรงเรียนทั้งสามแห่งออกมา ตั้งอยู่ที่ กม. 86 ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่ – ลำปาง และได้ค่าเช่ามาชดเชยการขาดทุนจากการบริหารโรงเรียนตลอดมา โดยใช้ที่ดินรวมประมาณ 50 ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ดินที่ได้จัดซื้อไว้โดยบรรพชนผู้ก่อตั้งโรงเรียนฮั่วเอง – ฮั่วเคี้ยว ด้วยความจำเป็น ถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ โดยไม่ได้ซื้อที่ดินใหม่แต่อย่างใด แต่ทั้งนี้เนื่องจากงบประมาณค่าก่อสร้างเป็นจำนวนมหาศาล จึงไม่มีเงินเหลือไว้เป็นงบประมาณสำหรับซื้อที่ดินในเขตเมืองเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนแห่งใหม่ตามความเหมาะสมได้

 

ยุคการย้ายที่ตั้งโรงเรียนใหม่

ก่อนการย้ายโรงเรียน ได้มีการรวบรวมที่ดินเข้ามาเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิ ในปี 2523 จึงมีการทำสัญญาให้เช่าที่ดินที่ตั้งโรงเรียนช่องฟ้า และโรงเรียนวาณิชบำรุงวิทยา ถนนช้างคลาน มีการดำเนินการเพื่อขออนุญาตย้ายที่ตั้งโรงเรียน ขออนุญาตก่อสร้างอาคารเรียนใหม่ พร้อม ๆ กับการดำเนินการโอนที่ดิน ที่มีการจัดซื้อไว้โดยบรรพชนผู้ก่อตั้งโรงเรียนฮั่วเอง-ฮั่วเคี้ยว โดยถือกรรมสิทธิ์ในนามบุคคลหลายคนมาตั้งแต่อดีต เพื่อโอนให้มูลนิธิฯ รับมาดูแลจัดการในนามนิติบุคคลสาธารณะที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ในปี 2525 การก่อสร้างอาคารเรียนใหม่แล้วเสร็จ มีการย้ายทั้งสามโรงเรียนไปที่ตั้งใหม่ ริมถนนซุปเปอร์ฯ เชียงใหม่-ลำปาง อำเภอสารภี โดยโรงเรียนช่องฟ้า และโรงเรียนวาณิชบำรุงวิทยา ตั้งอยู่เขตตำบลหนองผึ้ง ฝั่งตะวันตกของถนนเชียงใหม่-ลำปาง ขณะที่โรงเรียนซินเซิง ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก เขตตำบลไชยสถาน และมีพิธีเปิดอาคารเรียนทั้งสาม เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2525

การเปลี่ยนแปลงโรงเรียนจีนเชียงใหม่

ในปี 2528 คณะกรรมการมูลนิธิฯ มีความจำเป็นต้องขออนุญาตเลิกกิจการโรงเรียนวาณิชบำรุงวิทยา โดยให้มีผลตั้งแต่ วันที่ 30 เมษายน 2528 เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ และการบริหารประสบการขาดทุน

ในปี 2532 คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้ขออนุญาตรวมกิจการโรงเรียนจีนเชียงใหม่ที่เหลือสองโรงเรียนเข้าด้วยกัน และขอใช้ชื่อโรงเรียนที่รวมกันใหม่แล้วว่า โรงเรียนช่องฟ้าซินเซิง แต่ทางราชการไม่อนุญาต เพราะไปขัดกับระเบียบที่ห้ามตั้งชื่อโรงเรียนเป็นภาษาต่างประเทศ หรือเลียนเสียงเป็นภาษาต่างประเทศ ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ ปี 2529 เป็นต้นมา

ต่อมาจึงขออนุญาตใช้ชื่อโรงเรียนใหม่ว่า “ โรงเรียนสหศึกษา ” เรื่อยมาจนกระทั่ง ปี 2549 ระเบียบการตั้งชื่อโรงเรียนฉบับเดิมดังกล่าวถูกยกเลิก จึงได้ยื่นขออนุญาตเปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่เป็น “ โรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง ” ในที่สุด

sssccooll

หลังการรวมโรงเรียนในปี 2532 เป็นต้นมา โรงเรียนมีการพัฒนาขยายชั้นเรียน จากเดิมเปิดสอนเพียง ป.6 ในปี 2538 ได้ขอขยายชั้นเรียน ม.1 – ม.3 และ ในปี 2545 ขอขยายชั้นเรียน ม.4 – ม.6 โดยเปิดสอนทั้งแผนกวิทย์ – คณิต และแผนกศิลป์ภาษาจีน ในปี 2545 ปีเดียวกัน ได้ยื่นขอจดทะเบียนตั้ง สถานรับเลี้ยงเด็ก สวนเด็กช่องฟ้าซินเซิง กับกรมประชาสงเคราะห์ ให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย (หลังจากได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ย้ายโรงเรียน ปี 2525)

ในปี 2546 คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้ยื่นขอจดทะเบียนตั้ง โรงเรียนอนุบาลฟ้าใหม่ (โดยพัฒนาจากสถาน – รับเลี้ยงเด็ก “ สวนเด็กช่องฟ้าซินเซิง ” ) ส่วนสถานรับเลี้ยงเด็กฯ ยังคงรับเด็กก่อนวัย 2 ปี ต่อเนื่องไปจน ปี 2552

ต่อมาปี 2549 โรงเรียนอนุบาลฟ้าใหม่ ได้ขอจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น “ โรงเรียนอนุบาลช่องฟ้าซินเซิง-วาณิชบำรุง ” พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อ โรงเรียนสหศึกษา เป็น โรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง

จนกระทั่งปี 2552 ได้มีการขออนุญาตรวมกิจการโรงเรียนอนุบาล เข้าเป็นโรงเรียนเดียวกันกับโรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง และขออนุญาตรับเด็กอายุ 2 ปี ระดับเตรียมอนุบาล พร้อมกับขอเลิกกิจการสถานรับเลี้ยงเด็ก

และล่าสุด กลาง ปี 2553 มูลนิธิ ฯ ได้รับบริจาคที่ดินส่วนที่ติดรั้วด้านทิศใต้ของโรงเรียนฝั่งอนุบาล ตำบล-ไชยสถาน เนื้อที่ 356 ตารางวา จาก คุณสุรีย์พร คองประเสริฐ ให้มูลนิธิใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาต่อไป ดังนั้น ในที่สุดโรงเรียนจีนเชียงใหม่ ได้มารวมเป็นหนึ่งเดียวมาจนปัจจุบัน คือ “ โรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุง ” มีมูลนิธิช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุงวิทยา เป็นเจ้าของ และผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน เปิดสอนตั้งแต่ เตรียมอนุบาล จนถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปัจจุบัน สามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างมีเอกภาพ ภายใต้ร่มเงาของมูลนิธิช่องฟ้าซินเซิงวาณิชบำรุงวิทยา และการสนับสนุนจากมวลชาวจีนตลอดมา ในการฉลองอาคารทั้งหมด คือ อาคารอเนกประสงค์ อาคารเรียนอนุบาล อาคารหอพักนักเรียน และอาคารที่พักพนักงาน ที่เกิดขึ้นนี้ ก็เช่นเดียวกัน ทั้งหมดได้ใช้งบประมาณไปแล้ว ประมาณ 120 ล้านบาท ประมาณร้อยละ 80 เป็นเงินที่ได้จากรัฐบาลเป็นค่าเวนคืนที่ดินของมูลนิธิฯ อีกร้อยละ 20 เป็นเงินที่ได้รับบริจาค จากองค์กรชาวจีน นักธุรกิจการค้า ศิษย์เก่า ผู้ปกครองนักเรียน ฯลฯ ที่ยังคงให้การสนับสนุน โรงเรียนจีนเชียงใหม่ ด้วยดีต่อเนื่องตลอดมา